Hfocus (เจาะลึกระบบสุขภาพ)

  1. ถามตอบประเด็นฮิต "FDH" Financial Data Hub

    ถามตอบประเด็นฮิต "FDH" Financial Data Hub

     Financial Data Hub (FDH) หรือ ศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน คือ ระบบข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุข เพื่อให้โรงพยาบาลทุกแห่งส่งข้อมูลด้านการเงินและการรักษาพยาบาล ตั้งแต่ ต.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน และหวังลดภาระงานให้กับบุคลากร

    ที่ผ่านมา สธ.ได้พัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data Hub : FDH) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพดิจิทัล เชื่อมโยงข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลและการเงิน สนับสนุนการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนนโยบายด้านสาธารณสุขได้อย่างชัดเจน ล่าสุดหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 902 แห่ง มีการส่งข้อมูลบริการมายัง FDH ครบทุกแห่ง  สอดรับกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว สามารถเบิกจ่ายร่วมกับระบบของ สปสช. ซึ่งที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายไปแล้ว

    อย่างไรก็ตาม จากระบบ FDH ที่มีการพัฒนาขึ้น แน่นอนว่าย่อมต้องมีคำถาม หรือข้อสงสัยต่างๆ ล่าสุดกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ รวบรวมคำถาม และคำตอบ อาทิ

     
    **คำถาม : โครงสร้าง 16 แฟ้มที่ใช้ไม่ตรงกัน (โครงสร้างเก่า vs โครงสร้างใหม่) หรือไม่? 

    ตอบ : ไม่ใช่ โครงสร้างที่ FDH ใช้รับ-ส่ง เป็นไปตามประกาศ สปสช. ซึ่งรายละเอียดในแฟ้มครอบคลุมข้อมูลที่เคยบันทึกใน E-claim เดิม

    **คำถาม : แก้ไข C ยากขึ้น ขอแก้ไขที่หน้าเว็บเลยได้ไหม?

    ตอบ : ทางกระทรวงสาธารณสุข กำลังเร่งหาแนวทางและข้อตกลง เนื่องจากกรณีแก้ไขโดยลบบางรายการ ถ้ามีการลบในหน้า web อาจจะมีข้อมูลส่งเบิกไม่ตรงกับข้อมูลใน HIS

    **คำถาม : ทำไม ข้อมูลที่ส่งเข้า FDH หาย ??? ทั้งที่ตรวจใน 16 แฟ้มแล้วว่ามีการคีย์

    ตอบ : ข้อมูลที่ส่ง FDH จะไปที่ สปสช. โดยสปสช. จะมีกระบวนการพิจารณาแยกเป็น 2 ส่วน (1) ส่วนพิจารณาเบื้องต้น เพื่อตอบกลับข้อมูล กรณีเป็นเคสที่สามารถพิจารณาในครั้งต้นได้เลย ก็จะแสดงข้อมูลลง e-claim ได้รวดเร็ว (2) กรณีเป็นเคสที่ต้องพิจารณาถึงแนวทางรักษาการให้ยาและการใช้อุปกรณ์ จะมีทีมพิจารณา ซึ่ง สปสช. แจ้งว่าข้อมูลในส่วนนี้ จะยังไม่แสดงขึ้นในหน้า e claim หรือ REP เลย จนกว่าจะมีการพิจารณาเสร็จสิ้น ใช้เวลาตามที่ สปสช. แจ้ง ไม่เกิน 45 วัน

    **คำถาม : แก้ไข C บางเคส FDH ไม่ยอมส่งกลับไปที่ E-claim
    ตอบ : ขอยืนยันว่าทุกเคสส่งกลับไปยัง สปสช. ทั้งหมดที่มีการส่งแก้ไข อาจเป็นเพราะกระบวนการแก้ไข C เหมือนการส่งใหม่ สปสช. พิจารณา เหมือน Transection ใหม่ ซึ่งจะไม่ได้มีการ reference transection เดิม ทำให้การค้นหาโดย ใช้ transection เดิม ไม่พบข้อมูล

    **คำถาม : Dashboard FDH ไม่ตอบสนองต่อการค้นหาไม่เหมือน E-claim
    ตอบ : ทีมจะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มตัวค้นหา ให้ครอบคลุมเพื่อเพิ่มความละเอียดในการค้นหาให้มากยิ่งขึ้น

    **คำถาม : ทำไมส่งข้อมูลผ่าน FDH แล้ว !!! แต่การ แก้ไข C ช้า ?
    ตอบ : ตามที่ สปสช. แจ้ง เฉพาะกรณี one id ที่จะเข้าสู่ on screen review ถึงจะพิจารณาได้เร็ว นอกนั้น ยังคงดำเนินการพิจารณาตามกระบวนการเดิม ใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน ออก REP ได้ครบถ้วน

    **คำถาม : HIS ไม่ตอบโจทย์ในการบันทึก 16 แฟ้มทุกรายการเลย ทำอย่างไร ?

    ตอบ : จะทำการประสาน Vender เพื่อปรับปรุงระบบให้สามารถบันทึกข้อมูลได้ครบครอบคลุมโครงสร้าง 16 แฟ้ม, 13 แฟ้ม และอื่นๆ
     

    **คำถาม : ทำไมปัญหาที่พบ ไม่ได้รับการแก้ไขโดยทันที? ทำให้ยอดเรียกเก็บลดลงติด C มากขึ้น

    ตอบ : บางกรณีไม่สามารถแก้ไขได้ทันที เนื่องจากต้องประสาน เพื่อหาข้อเท็จจริงในการแก้ไขให้ถูกต้องก่อน จำเป็นต้องใช้เวลาดำเนินการในส่วนนี้

    **คำถาม : FDH ทำหน้าที่เป็น ตัวกลางส่งต่อข้อมูลไปที่ E-claim จริงๆ หรือไม่?

    ตอบ : FDH ไม่มี Module การกรองข้อมูลแต่นำส่งข้อมูล แบบ API batch files

    **คำถาม : การแก้ไข C ต้องแก้ที่ HIS แล้วส่งเข้าไปใหม่ ไม่สามารถทำได้บางงาน!!! เช่น ANC มีการอันตราซาว เกิน 1 ครั้ง ถ้า ครั้งที่ 2 ต้องลบรายการใน HIS ซึ่งไม่ควรลบเพราะเป็นประวัติคนไข้

    ตอบ : ได้ประสาน สปสช.กรณีดังกล่าวแล้ว สปสช.รับเรื่องนำเสนอผู้บริหารเพื่อพิจารณาต่อไป

    **คำถาม : ทำไม FDH และ E-claim ไม่ได้ตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนประกาศใช้งาน ? ตอนนี้โยนกันไปมา !!!

    ตอบ : กองเศรษฐกิจฯ ประชุมกับ สปสช. เป็นการประจำทุกสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม บางกรณี เช่น แนวทางการพิจารณาหลักเกณฑ์การเบิกเคลม เจ้าหน้าที่กองเศรษฐกิจฯ ไม่สามารถตอบได้

    **คำถาม : ถ้าหน่วยบริการนำร่อง one id ไม่ปิดสิทธิ เมื่อสิ้นสุดการรับบริการจะได้รับค่าใช้จ่าย จาก สปสช. หรือไม่?

    ตอบ : ไม่มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่าย ตามประกาศ คกก. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องมาตรการในการดำเนินงานเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ พ.ศ. 2567 ข้อที่ 4

    สอบถามการสมัคร Account FDH โทร. 080-076-4992
    สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-257-7119
    สอบถามการส่งข้อมูล/แก้ไข C  โทร. 1330 กด 5 กด 1
    สอบถามผลการพิจารณา Claim โทร. 1330 กด 5 กด 3

     

     

    hfocus team tipe Mon, 05/06/2024 - 07:31
  2. “สมศักดิ์” ให้กำลังใจผู้ป่วย ขอบคุณบุคลากรมีจิตวิญญาณสาธารณสุข จากเหตุพายุฤดูร้อน

    “สมศักดิ์” ให้กำลังใจผู้ป่วย ขอบคุณบุคลากรมีจิตวิญญาณสาธารณสุข จากเหตุพายุฤดูร้อน

    รมว.สาธารณสุข เยี่ยม รพ.อุตรดิตถ์ หลังเสียหายจากพายุฤดูร้อนถล่มยับ!  ให้กำลังใจบุคลากร ชี้มีจิตวิญญาณสาธารณสุข  สธ.เผยรายละเอียดความเสียหายต่อบริการสาธารณสุข จ.อุตรดิตถ์ ทั้งบ้านพัก 5 หลัง คลินิกทันตกรรมฝ้าหลุด สสอ.อีก 2 แห่ง บ้านพักหลังคากระเบื้องแตก น้ำซึม -รพ.5 แห่ง โดยเฉพาะรพ.อุตรดิตถ์ เสียหายรวม 18 จุด มีรพ.สต.อีก 7 แห่ง

    เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้เดินทางลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ จากกรณีโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อน โดยมี นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ สส.อุตรดิตถ์ นายวารุจ ศิริวัฒน์ สส.อุตรดิตถ์ นายรวี เล็กอุทัย สส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ

    โดยเมื่อนายสมศักดิ์ เดินทางมาถึงโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ได้เดินเยี่ยมชมจุดที่ได้รับความเสียหายจากเหตุพายุฤดูร้อน ทั้งบริเวณ ชั้น 5 และชั้น 6 ซึ่งบางส่วน มีการซ่อมแซมแล้ว แต่ยังมีอีกหลายส่วน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยหนึ่งในพยาบาล ที่อยู่ในเหตุการณ์ ได้เล่าให้ฟังว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ ไม่ทันได้ตั้งตัว ซึ่งเมื่อได้ยินเสียงดัง เหมือนมีอะไรกระแทก ทางเจ้าหน้าที่พยาบาล จึงกระจายกำลังกันเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยในทันที ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับบาดเจ็บมาก

    “สมศักดิ์” ลั่นภัยพิบัติยับยั้งไม่ได้ แต่ต้องถอดบทเรียนรับมือในอนาคต

    จากนั้น นายสมศักดิ์ ได้ร่วมประชุมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังบรรยายสรุป และหาแนวทางการแก้ปัญหา โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้รับทราบข่าวสารจาก สส.อุตรดิตถ์ ที่ห่วงใยพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เสียหายหลายแห่ง ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งเรื่องภัยพิบัติ ต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถยับยั้ง หรือ ไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่เราสามารถดำเนินการได้ คือ นำเป็นบทเรียนในการป้องกัน รวมถึงออกแบบโครงสร้างในอนาคต เพราะหากเกิดแผ่นดินไหว จะเสียหายมากกว่านี้อย่างแน่นอน

    ชื่นชมบุคลากร มีจิตวิญญาณสาธารณสุขช่วยเหลือประชาชน

    ส่วนการเดินทางมาวันนี้ ตนต้องการมาให้กำลังใจข้าราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน พร้อมขอยืนยันว่า จะช่วยเหลือดูแลอย่างเต็มที่ เพราะได้รับทราบว่า ขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทุกคน ช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ รวมถึงผู้ที่ไม่ได้เข้าเวร ก็รีบเดินทางมาช่วยเหลือเช่นกัน จึงทำให้เห็นถึงจิตวิญญาณของสาธารณสุข

    สั่งซ่อมแซมโดยเร็ว ส่วนใหญ่เสียหายตรงกระจก

    นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุข ต้องดูแลประชาชนและผู้ป่วยอย่างเต็มที่ โดยส่วนใดที่ได้รับความเสียหาย ก็ให้มีการซ่อมแซมด้วยความรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่ที่เสียหายคือ กระจกขนาดใหญ่ ดังนั้น ต้องรีบดำเนินการ เพราะหากเกิดเหตุซ้ำ จะได้รับความเสียหายมากยิ่งขึ้น โดยตนขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ได้ช่วยแก้ไขสถานการณ์ ส่วนงบประมาณในการซ่อมแซม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็จะช่วยดูแลอย่างเต็มที่ พร้อมได้กำชับให้เตรียมรองรับหากเกิดเหตุขึ้นอีก โดยเฉพาะกระจก ก็ให้เสริมความแข็งแรง เพราะเวลาเกิดเหตุจะมาอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถเตรียมการได้ทัน ดังนั้น ขอให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมตลอดเวลาด้วย

    รายละเอียดความเสียหายเหตุพายุฤดูร้อนต่อบริการสาธารณสุข

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมติดตามสถานการณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุตรดิตถ์ได้รายงานสถานการณ์พายุฤดูร้อนเมื่อเย็นวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา และภาพรวมความเสียหายของหน่วยบริการสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ ดังนี้

    1.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ บ้านพักสำนักงาน 5 หลังกระเบื้องแตก ต้นไม้ล้มทับ อาคารคลินิกทันตกรรมฝ้าหลุดร่วงลงมา ป้ายติดประกาศหน้า สสจ.ล้ม และกันสาดแฟลตที่พักใน สสจ.หลุดลงมา

     

    2.สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) 2 แห่ง ได้แก่ สสอ.เมือง บ้านพักหลังคากระเบื้องแตกหัก น้ำซึมเข้าตัวบ้าน ต้นไม้โค่นทับรั่วพัง และ สสอ.ตรอน ต้นไม้โค่นทับบ้านพักเจ้าหน้าที่ ทำให้บริเวณหลังคาบ้านด้านบนและด้านล่างเสียหาย

     

    3.โรงพยาบาล 5 แห่ง ได้แก่ รพ.อุตรดิตถ์ เสียหายรวม 18 จุด ส่วนใหญ่เป็นกระจกแตก ฝ้าชำรุดตกลงมาบางส่วนในหลายอาคาร บางส่วนมีน้ำรั่ว เช่น ห้องตรวจหู ไตเทียมเรื้อรัง , รพ.ลับแลเกิดความเสียหาย 10 จุด ที่อาคารตึกหอพักผู้ป่วย 4 ชั้น ตึกผู้คลอด ตึกห้องเวชระเบียน อาคารแผนไทยและกายภาพ แฟลตหอพัก จุดปั๊มน้ำทั้งระบบ ระบบจ่ายไฟ โรงจอดรถจากต้นไม้โค่นทับ จุดให้บริการผู้ป่วยทางเดินหายใจและโควิด และอาคารพัสดุกลาง, รพ.น้ำปาด เต็นท์ชั่วคราวภายใน รพ.เสียหาย 7 หลัง , รพ.ฟากท่า อาคารจ่ายกลางกระเบื้องหลุด เสาไฟและสายไฟโรงสูบน้ำดิบชำรุด และ รพ.พิชัย ต้นไม้ล้มทับโรงรถบ้านพักเจ้าหน้าที่ รถยนต์ได้รับความเสียหาย

     

    4.รพ.สต. 7 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.ม่อนดินแดง วังกะพี้ ป่าเซ่า คุ้งตะเภา นายาง นางพญา และเด่นเหล็ก ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้หักโค่นล้มทับในพื้นที่ ทำให้เกิดความเสียหาย หลังคาถูกลมพัดปลิว ทำให้หลังคารั่ว น้ำรั่วซึม เป็นต้น

    ผู้บาดเจ็บข้อมูล 4 พ.ค. 61 ราย แอดมิท 12 ราย เสียชีวิต 2 ราย

    ส่วนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตข้อมูลวันที่ 4 พ.ค.เวลา 12.00 น. มีทั้งสิ้น 61 ราย ต้องแอดมิทหรือผู้ป่วยใน 12 ราย ส่งต่อ 3 ราย กลับบ้านได้ 44 ราย และเสียชีวิต 2 ราย ซึ่งเป็นชายอายุ 54 ปี เต็นท์และรถเข็นล้มทับ ศีรษะบวมโน ทำ CPR แล้วสุดท้ายเสียชีวิต และชายอายุ 27 ปี เต็นท์ล้มทับเสียชีวิตที่เกิดเหตุ ส่วนเจ้าหน้าที่บุคลากรด้านสาธารณสุข มีบาดเจ็บจากเหตุดังกล่าว 7 ราย

     

     

    presscomdivi Sun, 05/05/2024 - 21:38
  3. งานแรก รมว.สมศักดิ์ เปิดโครงการ "พาหมอไปหาประชาชน" จ.สุโขทัย

    งานแรก รมว.สมศักดิ์ เปิดโครงการ "พาหมอไปหาประชาชน" จ.สุโขทัย

    "สมศักดิ์" เป็นประธานเปิดโครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ จ.สุโขทัย เผยจัดโครงการแล้ว 47 ครั้ง มีประชาชนมาใช้บริการกว่า 4 แสนคน เล็งจัดถึง 90 ครั้ง ให้เกิดความเสมอภาคด้านบริการสาธารณสุข เพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล 

    วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดโครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี พระสุขวโรทัย ที่ปรึกษาเจ้าคณะสงฆ์ ภาค 5 เจ้าอาวาสวัดสังฆาราม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สส.สุโขทัย นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง สส.สุโขทัย น.ส.ประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย พญ.ธัญญารักษ์ สิทธิวงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข อสม. และประชาชนกว่า 2,000 คน เข้าร่วม ที่โรงพยาบาลบ้านด่านลานหอย อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย

    นายแพทย์โอภาส กล่าวรายงานว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ และภาพอนาคตระบบสาธารณสุขไทย ยกระดับระบบบริการสาธารณสุขที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายของรัฐบาล และความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในการรับบริการ ความแออัด และระยะเวลารอคอยการรักษา โดยเฉพาะโรงพยาบาลในเขตเมือง ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และคุณภาพการบริการที่ประชาชนได้รับ จึงจัดโครงการพาหมอไปหาประชาชนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ขึ้นที่โรงพยาบาลบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย รวมทั้งหมด 12 คลินิก 

    ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่า โครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ จะจัดให้มีคลินิกตรวจรักษาโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ โดยแพทย์เฉพาะทางจิตอาสา อย่างน้อย 7 คลินิก และคลินิกเพิ่มเติมตามบริบทปัญหาของพื้นที่ หรือ การพาแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไปรักษาตามชุมชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาส ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม สะดวก ได้รับการค้นหา และรักษาโรคในระยะเริ่มต้นได้อย่างทันท่วงที พร้อมช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล 

    นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่าที่ผ่านมา โครงการพาหมอไปหาประชาชน ได้ดำเนินการแล้ว 47 ครั้ง 47 จังหวัด โดยมีประชาชนเข้ารับบริการรวมแล้ว 410,103 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นโครงการที่สำคัญ สามารถช่วยให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้จำนวนมาก โดยแพทย์เฉพาะทาง 7 คลินิก ประกอบด้วย 

    1.คัดกรองมะเร็งตับ/มะเร็งท่อน้ำดี 

    2.คัดกรองมะเร็งปากมดลูก 

    3.คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง 

    4.คัดกรองมะเร็งเต้านม 

    5.ตาในเด็กและผู้สูงอายุ 

    6.ทันตกรรม 

    7.กระดูกและข้อ  

    “ผมขอขอบคุณ ทุกแรงกาย แรงใจ และความมุ่งมั่น ของผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่าย รวมทั้งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่ร่วมกันผลักดันโครงการ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในครั้งนี้ผมเชื่อมั่นว่า การขับเคลื่อนโครงการนี้ จะช่วยยกระดับการแพทย์และการสาธารณสุข เพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน” รมว.สาธารณสุข กล่าว

    นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา การใช้บริการสาธารณสุขของพี่น้องประชาชน จะเน้นไปที่โรงพยาบาลที่ตัวเองให้ความสนใจ กระทรวงสาธารณสุข จึงพยายามทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน ว่าสามารถเลือกใช้บริการสาธารณสุขได้ทั้งหมด เพราะรัฐบาล ก็มีการยกระดับนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ส่วนโครงการพาหมอไปหาประชาชน ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการกระจายงาน ทำให้ประชาชน เข้าถึงบริการสาธารณสุขกว่า 4 แสนคน ใน 47 ครั้ง คาดว่า โครงการนี้ จะจัดให้ถึงกว่า 90 ครั้ง เพื่อให้เกิดความเสมอภาคด้านบริการสาธารณสุข

    editor team nisa Sun, 05/05/2024 - 13:09
  4. "คลินิกทันตกรรมฯ" ชี้ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ช่วยปชช. เข้าถึงบริการเบื้องต้นมากขึ้น

    "คลินิกทันตกรรมฯ" ชี้ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ช่วยปชช. เข้าถึงบริการเบื้องต้นมากขึ้น

    สปสช. เผย ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ช่วย ปชช.ทำฟันที่คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น ไม่ต้องรอคิวนาน ปชช. เข้าถึงบริการเบื้องต้นมากขึ้น หมอฟัน รพ.รัฐ มีเวลารักษาเคสซับซ้อนมากขึ้น

    วันที่ 5 พ.ค. 2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การขยายบริการด้านทันตกรรมโดยเพิ่มคลินิกทันตกรรมเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวนั้น ในตอนนี้ถือว่าทำให้ภาพรวมในเชิงระบบบริการมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมาก  

    เนื่องจากประชาชนสามารถรับบริการดูแลสุขภาพช่องปากเบื้องต้น 5 รายการ อันได้แก่ การขูดหินปูน การอุดฟัน การถอนฟัน การเคลือบหลุมร่องฟัน และการเคลือบฟลูออไรด์ ได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องรอคิวนาน หรือรอให้เป็นหนักก่อนแล้วค่อยมารับการรักษา อีกทั้งในแง่ของเครือข่ายการให้บริการ ยังช่วยลดความแออัด และภาระงานในโรงพยาบาล รวมถึงทันตแพทย์ในโรงพยาบาลก็มีเวลาสำหรับให้การรักษาผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อนได้มากขึ้นด้วย 

    ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ จากข้อมูลการดำเนินการที่ผ่านมาตลอดหลายเดือน พบว่า ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการสมัครเข้าร่วมให้บริการของคลินิกทันตกรรมเอกชน ภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวนั้น ขณะนี้รวมทั้ง 2 เฟส มีคลินิกทันตกรรมเอกชนที่อยู่ในระบบบัตรทอง ทั้งหมด 106 แห่ง และมีการให้บริการประชาชนไปแล้วประมาณ 10,000 คน ในจำนวนนี้คิดเป็นการมารับบริการมากกว่า 15,000 ครั้ง หรืออัตราการมารับบริการเฉลี่ยคือ ประชาชน 1 คนมารับบริการ 1.5 ครั้ง 

     

    “เราก็มีการสอบถามประชาชนว่ามาใช้บริการแล้วเป็นยังไงบ้าง ก็ได้รับคำตอบว่าประชาชนมีความสุขมากเลย เพราะได้เข้าถึงบริการโดยที่ใช้เวลาน้อย ไม่ต้องรอคอยนานเหมือนเมื่อก่อน ไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย และคลินิกทันตกรรมก็มีการกระจายมากขึ้น ซึ่งตัวเลขที่บอกไปคือตัวเลขเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตอนนี้ก็น่าจะมีเพิ่มขึ้นแล้ว ก็คิดว่าในภาพรวมค่อนข้างดี และจะดีขึ้นเรื่อยๆ” ทพ.อรรถพร ระบุ 

    ทั้งนี้ สำหรับเหตุผลที่ สปสช. กำหนดให้ประชาชนสิทธิบัตรทอง ไปรับบริการได้เพียง 3 ครั้งต่อคนต่อปีนั้น เนื่องจากปีนี้ถือเป็นปีแรกที่จะมีการขยายบริการในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีการคำนวณแล้วว่าในอัตราการมารับบริการจำนวนนี้จะสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีความจำเป็นได้มากขึ้น และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือกองทุนบัตรทองยังสามารถดำเนินต่อไปได้ 

    ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า ที่สำคัญแม้ในการมารับบริการที่คลินิกทันตกรรม 1 ครั้ง จะจำกัดอยู่ที่ 1 รายการบริการ แต่ในการรับบริการจริงหากทันตแพทย์พบว่าฟันมีปัญหาหลายซี่ และไม่มีความซับซ้อนในการรักษา ก็สามารถรักษาให้จบภายในครั้งนั้นได้ โดยนับเป็นการใช้บริการเพียงครั้งเดียว ยกตัวอย่างเช่น ฟันผุ 4 ซี่ ก็อุดฟันทั้ง 4 ซี่ได้เลยในการรับบริการครั้งนั้น เป็นอาทิ 

    อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วประชาชนจะได้รับบริการอย่างไรจะขึ้นอยู่กับสุขภาพช่องปากของตนเอง และดุลยพินิจของทันตแพทย์ว่าจะวางแผนในการรักษาอย่างไร เพราะบางกรณีแม้ฟันผุ 4 ซี่เหมือนกัน แต่มีความซับซ้อนมากกว่า การอุดฟันก็อาจทำได้เพียงครั้งละซี่ต่อการมารับบริการ 1 ครั้งก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากประชาชนไปใช้สิทธิรับบริการที่คลินิกทันตกรรมครบ 3 ครั้งแล้ว และยังมีปัญหาสุขภาพช่องปากที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อ ก็ยังสามารถไปรับบริการได้ที่หน่วยบริการประจำของตนเองได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม  

    “โรคในช่องปากเป็นโรคที่ไม่เป็นเยอะจะไม่มีอาการ แต่เมื่อก่อนพอจะไปรักษาถ้าเห็นคิวยาวก็อาจจะไม่อยากรักษาแล้ว รู้ตัวอีกทีก็เป็นเยอะ กระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นเป้าหมายของ สปสช. คืออยากให้มีคลินิกทันตกรรมที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ 100% ซึ่งจำนวนนี้ก็ถือเป็นตัวเลขที่สูง แต่ที่ต้องตั้งเป้าไว้แบบนี้ เพราะเราอยากให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น” ทพ.อรรถพร กล่าว 

    ด้าน ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 กล่าวว่าทันตแพทยสภา มองภาพของคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมให้บริการในโครงการนี้ว่าเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ดังนั้น การให้บริการจึงไม่ใช่แค่ขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน แต่จะดูแลประเมินความเสี่ยงของสุขภาพช่องปากของผู้รับบริการและวางแผนการรักษาทั้งหมด จากนั้นจึงจะทำหัตถการที่จำเป็น ซึ่งในขณะนี้ สปสช. กำหนดให้ใช้สิทธิรับบริการได้ฟรีไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี ดังนั้น หากปัญหาสุขภาพในช่องปากยังรักษาได้ไม่หมด ในครั้งที่ 4, 5 หรือ 6 ก็สามารถไปรับบริการต่อที่โรงพยาบาลรัฐ หรือถ้าสามารถจ่ายได้เองก็รับบริการต่อเนื่องที่คลินิกเลย 

    ปัจจุบันมีคลินิกทันตกรรมเอกชนทั่วประเทศประมาณ 7,000 แห่ง ถ้าหักคลินิกในพื้นที่ กทม.ออก จะเหลือประมาณ 4,000 กว่าแห่ง ในจำนวนนี้ ทันตแพทยสภาตั้งเป้าว่าจะมีคลินิกทันตกรรมเอกชนเข้าร่วมประมาณ 25% หรือประมาณ 1,000 แห่ง

    ด้าน นางสาวอุมาพร ผู้รับบริการจากคลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่นแห่งหนึ่งใน จ.สิงห์บุรี กล่าวว่าเมื่อได้มารับบริการที่คลินิกแล้วรู้สึกว่าชอบมาก ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก เมื่อก่อนต้องไปรอคิว กว่าจะได้ทำฟันที่โรงพยาบาลต้องรอคิวตั้งแต่ตี 3 พอมารับบริการที่คลินิกแล้วได้รับบริการอย่างรวดเร็ว จึงรู้สึกชอบมาก และนอกจากใช้บริการในพื้นที่แล้วยังไปใช้บริการนอกพื้นที่ได้ด้วย ตนเคยเดินทางไป กทม. ก็ไปรับบริการที่นั่น ก็ใช้บริการเลยโดยไม่เสียเงิน ดังนั้นจึงอยากให้มีบริการแบบนี้ทั่วประเทศ ประชาชนจะได้ไปรับบริการได้อย่างสะดวก 

    hfocus team tipe Sun, 05/05/2024 - 10:58
  5. ย้อนข้อมูลความเป็นมา ค่าป่วยการ อสม. จาก 600 บาทต่อเดือน สู่ 2,000 บาทต่อเดือน

    ย้อนข้อมูลความเป็นมา ค่าป่วยการ อสม. จาก 600 บาทต่อเดือน สู่ 2,000 บาทต่อเดือน

    "หมอสุระ" อธิบดีกรม สบส. เผยเส้นทางค่าป่วยการ จาก 600 บาทต่อเดือน สู่ 2,000 บาทต่อเดือน กับบทบาทการทำงานมากกว่า 4 ทศวรรษ ของ อสม. ที่เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือประชาชนให้มีสุขภาพดีขึ้นตามกลวิธีการสาธารณสุขมูลฐาน พร้อมขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิให้เข้มแข็ง

    อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือที่เรียกว่า อสม. คือ ประขาชนที่มีจิตอาสา ที่ได้รับการคัดเลือกจากคนในชุมชน เข้ารับฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้สามารถจัดบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานแบบผสมผสานทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาลเบื้องต้นและการฟื้นฟูสุขภาพ เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ซึ่งการส่งเสริมและพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ได้ริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ในระยะแรกเป็นโครงการทดลองใน 20 จังหวัด โดยทดลองในทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ตำบล เรียกว่าเป็นการใช้ “กลวิธีการสาธารณสุขมูลฐาน” ซึ่งเป็นกลวิธีหลักในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศในขณะนั้น 

    ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2536 ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข  เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ รวมถึงส่งเสริมให้ อสม.ได้รวมพลังพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนชาวไทย และได้ดำเนินการจัดงานวัน อสม. แห่งชาติ ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา

    ตลอดระยะเวลามากกว่า 4 ทศวรรษ อสม.ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีสุขภาพอนามัยดีขึ้นมาโดยตลอด อาทิ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด19 ที่ผ่านมา อสม.ถือเป็นกำลังภาคประชาชนที่สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตด้านสาธารณสุขมาได้ด้วยดี  ปัจจุบันประเทศไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เป็นจำนวนกว่า 1.09 ล้านคนทั่วประเทศ รวมเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถือเป็นกลไกสำคัญในการดูแลสุขภาพคนในชุมชน ช่วยขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ และส่งเสริมสนับสนุนพี่น้องประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน 

    อสม.ได้รับค่าป่วยการครั้งแรกเมื่อปี 2552 เป็นจำนวนเงิน 600 บาทต่อเดือน

    หากพูดถึงเรื่องค่าป่วยการ อสม.นั้น ในยุคแรกๆ อสม. ยังไม่ได้ค่าตอบแทนเลยด้วยซ้ำเพราะเข้ามาทำหน้าที่ด้วยใจรักและมีจิตอาสาจริงๆ จนปัจจุบัน อสม.เริ่มได้รับค่าป่วยการ ครั้งแรกเมื่อปี 2552 เป็นจำนวนเงิน 600 บาทต่อเดือน  ซึ่งเรื่องนี้ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยกับสำนักข่าว Hfocus ถึงความคืบหน้าค่าป่วยการว่า ค่าป่วยการ อสม. อยู่ในพระราชบัญญัติงบประมาณปีพ.ศ. 2567 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ในส่วนของการเตรียมการของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นั้น เนื่องจากปีนี้เราตั้งงบประมาณสําหรับค่าป่วยการ อสม. เพิ่มจากเดือนละ 1,000 บาท เป็นเดือนละ 2,000 บาท  ซึ่งกรมบัญชีกลางจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของอสม.ทุกคนประมาณวันที่ 15 พฤษภาคม 67 หรือกลางเดือนของทุกๆเดือนถัดไป เพราะฉะนั้นในรอบนี้จะมีค่าป่วยการ ซึ่งจ่ายตกเบิกย้อนหลังมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 รวม 6 เดือน รวมทั้งงบประมาณก้อนใหม่ที่จะต้องเบิกในเดือนเมษายน 2,000 บาท ดังนั้นโดยรวมแล้วในวันที่ 15 พฤษภาคม อสม.ทุกคนที่เคยได้รับค่าป่วยการมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 66 จะได้เงินย้อนหลัง 6 เดือนรวม 6,000 บาท

    "เพราะว่าเดิมทีตั้งแต่ในช่วงต้นนั้นเราจัดสรรให้เพียงคนละ 1,000 บาท เพราะเป็นเงินงบประมาณที่ใช้จ่ายแบบพลางไปก่อนใน 6 เดือนที่แล้ว แต่พอมาเดือนเมษายน อสม.ก็จะได้รับทั้งหมด 2,000 บาท สรุปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 มาจนถึงเดือนเมษายน 2567 อสม.ทุกคนก็จะได้รับเงินค่าป่วยการคนละ 8,000 บาท" นพ.สุระ กล่าว

    นพ.สุระ กล่าวต่อว่า เดิมทีเรามี อสม.ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ซึ่งมากกว่า 40 ปีแล้ว โดยตอนนั้น อสม.ไม่มีค่าป่วยการเนื่องจากเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข ซึ่งทุกคนก็อุทิศเวลาอุทิศทรัพย์สินในการทํางานเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข จนมาถึงเมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีในยุคนั้นมีมติเห็นชอบที่จะให้ค่าป่วยการอสม.เป็นเดือนละ 600 บาทต่อเดือน เนื่องจาก อสม.มีค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เติมน้ำมันรถ หรือชดเชยค่าเสียเวลา เป็นต้น

    ปี พ.ศ. 2561  เพิ่มค่าป่วยการจากเดิมเดือนละ 600 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท

    จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2561 อสม.ได้ค่าป่วยการเพิ่มจากเดือนละ 600 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท เพราะว่ามีค่าใช้จ่ายเรื่องอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเราให้ อสม.ส่งงานผ่านสมาร์ทอสม. ซึ่งอสม.ทุกคนต้องไปเช่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตประมาณ 300-500 บาท ซึ่งถ้า 600 บาท ไม่น่าจะพอ ซึ่งใน 1,000 บาท อสม.ต้องทํางานส่งงานเดือนละ  4 วัน  รวมทั้งอสม.จะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นประจำทุกเดือนใน 9 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมสุขภาพ 2. การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค 3. การฟื้นฟูสุขภาพ 4. การคุ้มครองผู้บริโภค 5. การจัดการสุขภาพชุมชนและการมีส่วนร่วมในแผนสุขภาพตำบล 6. การสนับสนุนอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) 7. การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล/การบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ 8. การเข้าร่วมกับทีมหมอครอบครัวในการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยและครอบครัวในชุมชน 9. กิจกรรมอื่นๆ ตามสภาพปัญหาของชุมชน 

    ปี พ.ศ. 2567 เพิ่มค่าป่วยการจากเดิมเดือนละ 1,000 บาท เป็นเดือนละ 2,000 บาท

    จนกระทั่งล่าสุด ในปี พ.ศ. 2567 มีการปรับค่าป่วยการเพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละ 1,000 บาท เป็นเดือนละ 2,000 บาท เนื่องจากอสม.มีงานมากขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก อสม.ทํางานมากกว่า 4 วันหรืออาจจะถึง 10 วันต่อเดือน จึงต้องเพิ่มค่าป่วยการให้ โดยอสม.ต้องรายงานในการทํางานเดือนละ 8 วันนอกจากนี้ยังมีงานอื่นเพิ่มเติม อย่างเช่น เรื่องยาเสพติดในปัจจุบันอสม.ต้องช่วยเช่นกัน หรือเรื่องผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง การติดตามหญิงตั้งครรภ์เข้าถึงยาเม็ดเสริมไอโอดีน เป็นต้น

    เมื่อถามว่ามีความคาดหวังอย่างไรกับภารกิจ อสม.ในอนาคต นพ.สุระ กล่าวว่า เนื่องจาก อสม.ได้รับการพัฒนามาครบทุกอย่างในการทํางานในระดับปฐมภูมิ ซึ่ง อสม.คือหมอคนที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นในประเทศไทยเรามี รพ.สต. เพียง 1 หมื่นแห่ง โดยแต่ละแห่งมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 3-5 คน โดยประมาณ ซึ่งคงไม่สามารถดูแลประชาชนได้ทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ อสม. ทั้ง 1,090,000 คน ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในระดับปฐมภูมิในการดูแลพี่น้องประชาชน ฉะนั้นในส่วนที่ผ่านมาเราเห็นได้ว่าในช่วงที่โควิดระบาดก็ได้ อสม.ช่วยทําให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิดได้เร็วที่สุด และสามารถเปิดประเทศได้เร็วมาก เนื่องจากเราใช้ อสม.เป็นผู้ดําเนินการช่วยหมอคนที่ 2 คนที่ 3

    "เพราะฉะนั้นเราคาดหวังว่า อสม. จะเป็นหมอคนที่ 1 เป็นหมอคนแรกในหมอ 3 คน โดยหมอคนที่หนึ่งคืออสม. หมอคนที่สองคือหมออนามัยหรือหมอรพ.สต. หมอคนที่สามคือหมอที่อยู่ที่โรงพยาบาลที่เป็นนายแพทย์จริงๆ ดังนั้นอสม. สามารถที่จะแบ่งเบาภาระของหมอคนที่สองและหมอคนที่สามได้ความคาดหวังของเราก็หวังว่าอสม.จะช่วยในการแก้ปัญหาสุขภาพและพัฒนาสุขภาพของพี่น้องประชาชนคนไทยได้" นพ.สุระ กล่าว.

    hfocus team tipe Sat, 05/04/2024 - 16:40