Hfocus (เจาะลึกระบบสุขภาพ)

  1. สธ. ให้จังหวัดเสี่ยงเกิดน้ำท่วม เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ ปรับรูปแบบบริการประชาชนให้เข้าถึงการรักษาได้ 

    สธ. ให้จังหวัดเสี่ยงเกิดน้ำท่วม เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ ปรับรูปแบบบริการประชาชนให้เข้าถึงการรักษาได้ 

    รองปลัดสธ.ให้จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ พร้อมเฝ้าระวังโรคและภัยที่มากับน้ำท่วม ย้ำอำนวยความสะดวกประชาชนให้เข้าถึงการดูแลรักษา เยียวยา ด้านส่วนกลางเตรียมพร้อมสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ลงพื้นที่

     

     

    เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566ที่ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข  จ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลติดตามสถานการณ์กรณี อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ 

     

    นพ.ณรงค์  กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยทั้งบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข และประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง ภาคตะวันออกและภาคกลางบางจังหวัด โดยปัจจุบันยังมีสถานการณ์ในพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำ จาก 22 ลุ่มน้ำ จำนวน 4 จังหวัด คือ ตาก กาฬสินธุ์ ยโสธร และ อุบลราชธานี โดยมีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบรวม 15 แห่ง สามารถให้บริการได้ตามปกติ 14 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง ที่ รพ.สต.บ้านดอนยานาง จ.กาฬสินธุ์ ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้ 

     

    1.จังหวัดที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่รับน้ำ ให้พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อติดตามสถานการณ์ ประเมินผลกระทบ และรายงานสถานการณ์มายังส่วนกลาง 

     

    2.กรณีเหตุการณ์ที่เข้าเกณฑ์รายงานเหตุการณ์สำคัญและฉุกเฉิน (Critical Information Requirements: DCIRs) ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รายงานมายังกองสาธารณสุขฉุกเฉิน 

     

    3.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ ผลกระทบจาก “พายุใต้ฝุ่นโคอินุ” ระหว่างวันที่ 3-10 ตุลาคม 2566  

     

    4.มอบกรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังโรคและภัยที่มากับน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังได้ย้ำให้หน่วยบริการในพื้นที่ปรับรูปแบบการให้บริการประชาชนให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้ อาทิ ระบบ Tele Medicine การจัดจุดบริการเป็นต้น รวมทั้งสื่อสารกับประชาชนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเส้นทางการเข้ารับบริการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน

     

    นพ.ณรงค์กล่าวต่อว่า สำหรับหน่วยงานส่วนกลาง ได้เตรียมพร้อมสนับสนุนทรัพยากร เวชภัณฑ์ ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้กับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบผ่านทางสำนักงานเขตสุขภาพ โดยสำรองยาชุดฯ และ ยาน้ำกัดเท้า ไว้ประมาณ 70,000 ชุด และองค์การเภสัชกรรมยังมีวัตถุดิบที่สามารถผลิตเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 100,000 ชุด 

     

    ทั้งนี้ ได้รับรายงานสถานการณ์ จากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ว่าทุกแห่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และยังคงให้ทุกหน่วยบริการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

     

    presscomdivi Wed, 10/04/2023 - 19:33
  2. ‘ชลน่าน’ ตั้ง 2 กุนซือเพิ่ม! ช่วยขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพอนามัย

    ‘ชลน่าน’ ตั้ง 2 กุนซือเพิ่ม! ช่วยขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพอนามัย

    รมว.สาธารณสุข ตั้งที่ปรึกษาข้างกายเพิ่ม 2 ท่าน มี “หมอณรงค์” อดีตรองปลัดสธ. และ “วิชัย ล้ำสุทธิ” อดีตส.ส.ปชป. และอดีตเลขาธิการพรรคไทยภักดี ก่อนจะย้ายมาอยู่กับพรรคเพื่อไทยในปี 2566  

     

    หลังจากเป็นกระแสข่าวกรณีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ตั้งภรรยาเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่มีเงินเดือน แต่ก็ถูกถามถึงความเหมาะสมนั้น

     

    ล่าสุดนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 1422/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (เพิ่มเติม) ระบุว่า

    ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 1290/2566 ลงวันที่ 14 กันยายน 2566 และที่ 1348/2566 ลงวันที่ 22 กันยายน 2566 ได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว นั้น เพื่อให้การบริหารราชการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้านสุขภาพอนามัย จึงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(เพิ่มเติม) ดังนี้

    1.นพ.ณรงค์ สายวงศ์ คณะที่ปรึกษา (อดีตรองปลัดกระทรวงสธารณสุข)

    2.นายวิชัย ล้ำสุทธิ คณะที่ปรึกษา

    ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

    สั่ง ณ วันที่ 2 ตุลาคม 2566

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายวิชัย ล้ำสุทธิ  เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตเลขาธิการพรรคไทยภักดี ก่อนจะย้ายมาอยู่กับพรรคเพื่อไทยในปี 2566  

     

    ข่าวเกี่ยวข้อง : 

    -ครม.เห็นชอบแต่งตั้ง “วิชาญ มีนชัยนันท์” ที่ปรึกษา และ “หมอพลเทพ” เลขาฯ รัฐมนตรีสธ.

    -“หมอชลน่าน” ตั้ง “หมอก้อย” ภรรยา นั่งคณะที่ปรึกษา ดันสวัสดิการชาวสาธารณสุข

    -“หมอชลน่าน” แจงตั้งภรรยาเป็นกุนซือ ไม่รับเงินเดือน ไม่มีหน้าที่สั่งขรก. ให้คำแนะนำเฉพาะรมว.สธ.(คลิป)

    นพ.ณรงค์ สายวงศ์

     

    นายวิชัย ล้ำสุทธิ

    presscomdivi Wed, 10/04/2023 - 18:10
  3. เครือข่ายฯ ยื่นหนังสือถึง ปธ.สภาฯ พบพิรุธ! ตั้ง กมธ.วิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า

    เครือข่ายฯ ยื่นหนังสือถึง ปธ.สภาฯ พบพิรุธ! ตั้ง กมธ.วิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า

    เครือข่ายนักวิชาการ เครือข่ายครอบครัว และเยาวชน “ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร” หลังพบ “พิรุธ” สภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า พบรายชื่อคนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ ชี้ผิดอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก วอนทบทวนใหม่ ทำภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย พร้อมจับตาการเลือกประธาน กมธ.วิสามัญฯ ขอคนเป็นกลาง มีความรู้ ยึดประโยชน์สุขภาพประชาชนเป็นหลัก

    เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 ต.ค. 2566 เครือข่ายนักวิชาการ เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายครอบครัว และตัวแทนเด็ก เยาวชน 20 คน นำโดยผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)ได้เข้าพบและยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้ทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรรับหนังสือแทน

    ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวว่า การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการฯ มีความไม่ปกติ เนื่องจากพบรายชื่อบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจบุหรี่อย่างน้อย 2 คน โดยบุคคลทั้งสองมีการเคลื่อนไหวผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายอย่างต่อเนื่องในนามกลุ่มลาขาดควันยาสูบ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจบุหรี่ยักษ์ใหญ่ โดยเป็นสมาชิกองค์กรสนับสนุนนิโคตินนานาชาติที่มีประวัติรับเงินสนับสนุนจากองค์กรบังหน้าของธุรกิจยาสูบ และหนึ่งในแกนนำกลุ่มลาขาดควันยาสูบเคยเป็นกรรมการบริหารองค์กรสนับสนุนนิโคตินนานาชาตินี้ และยังดำเนินกิจกรรมในนามองค์กรนี้อย่างต่อเนื่อง

    "การแต่งตั้งบุคคลเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ เข้าร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ถือเป็นการขัดต่อกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลกมาตรา 5.3 ที่ไทยเป็นรัฐภาคี และเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของไทยด้านการควบคุมยาสูบในสายตานานาประเทศ ที่ไทยได้รับการยกย่องว่ามีความก้าวหน้าในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ข้อเสนอแนะ ที่จะออกโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้ จะขาดความน่าเชื่อถือ สร้างความเคลือบแคลงสงสัยจากสังคมว่ามีการแทรกแซงโดยธุรกิจยาสูบอีกด้วย" ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว

    รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไทยได้รับการคัดเลือกจากสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ให้เป็นที่ตั้งของศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้และสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินมาตรการตามมาตรา 5.3 เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากธุรกิจยาสูบ การที่ไทยดำเนินการละเมิดต่อมาตรา 5.3 เสียเองยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย จึงอยากเรียกร้องไปยังผู้เกี่ยวข้องพิจารณารายชื่อบุคคลที่จะเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการฯ อย่างรอบคอบอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ธุรกิจยาสูบเข้ามาแทรกแซงการดำเนินนโยบายบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศ

    นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า ขอเสนอให้ท่านประธานรัฐสภา นำกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ มาตรา 5.3 มาแก้ไขระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อป้องกันการแทรกแซงของธุรกิจยาสูบผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ซึ่งมีหลายประเทศที่นำมาตรา 5.3 มาบังคับใช้กับรัฐสภา เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย นอกจากนี้ การนำมาตรา 5.3 มาใช้ยังเป็นการสอดรับกับนโยบายการสร้างรัฐสภาโปร่งใสอีกด้วย

    นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ตัวแทนเครือข่ายผู้ปกครองกล่าวว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้ เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรค วิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริง จัดทำข้อเสนอแนะและหาแนวทางแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า นับเป็นสิ่งที่น่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง ในนามของเครือข่ายครอบครัวและผู้ปกครองขอขอบคุณแทนคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน ที่จะได้รับการดูแลปกป้องจากอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า แต่ยังมีความกังวลเรื่องการแต่งตั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบมาเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้

    “ขอให้สภาผู้แทนราษฎรยึดมั่นในพันธกรณีที่ไทยในฐานะภาคีอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก ยืนยันไม่นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าโดยเครือข่ายฯจะติดตามการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้ โดยเฉพาะการเลือกประธานกรรมาธิการวิสามัญในช่วงบ่ายวันนี้ (4 ต.ค.) ขอให้เลือกประธานที่มีความเป็นกลาง เลือกผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักและยึดถือถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก ขอให้เลือกผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ ไม่มีความคิด พฤติกรรมที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้ท่านได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางในการดูแลสุขภาพของประชาชนและเยาวชนลูกหลานของเรา ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ” นางฐาณิชชา กล่าว

    ด้านนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ขอบคุณที่มาแสดงเจตจำนงไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นเพียงคนกลางในการนำประชุม ส่วนการอนุมัติจะเห็นชอบหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของสส. และหวังว่า สส. ทั้ง 500 คนที่ประชาชนเลือกมาจะรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ตระหนักได้ว่าสิ่งนี้จะส่งผลเสียต่อเด็กเยาวชน และยึดหลักความถูกต้องเป็นสำคัญ รวมถึงโทษของบุหรี่ที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชนในอนาคตมากกว่านายทุน หรือผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการค้าขายบุหรี่ไฟฟ้า สะท้อนได้จากกรณีเด็กอายุ 14 ก่อเหตุยิงปืนในห้างสรรพสินค้า เชื่อว่าเป็นผลมาจากการสูญเสียสติปัญญาสมองได้รับผลกระทบจากสารเสพติดบางอย่าง 

    อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ศจย.ชี้หากสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งเสพติดแรก เสี่ยงสูบบุหรี่ธรรมดา 3 เท่า

     

     

    *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

    editor team nisa Wed, 10/04/2023 - 18:07
  4. “หมอยงยุทธ” แนะรื้อระบบควบคุมอาวุธปืนใหม่ มีครอบครองสูงถึง 12 ล้านกระบอก

    “หมอยงยุทธ” แนะรื้อระบบควบคุมอาวุธปืนใหม่ มีครอบครองสูงถึง 12 ล้านกระบอก

    จิตแพทย์เผยการเลียนแบบต้องเกิดซ้ำภายใน 1 เดือน ชี้การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนมีผลมากต่อการจดจำ ทำให้เกิดคนที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงในจิตก่อเหตุได้ ขอสังคมหยุดดรามาสร้างความเกลียดชังครอบครัวเด็ก 14 ผู้ก่อเหตุ อย่าขุดคุ้ยประวัติ ทุกคนล้วนเป็นเหยื่อในสังคม

    เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเหตุความรุนแรงที่ห้างพารากอนว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3  นับจากเหตุกราดยิงที่ นครราชสีมา และ ยิงที่ศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู  ซึ่งหากมองย้อนไปจะพบว่า มักมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แทบทุกปี    แม้จะต่างกรรมต่างวาระ  แต่ก็เป็นสัญญานว่าจะต้องแก้ไขเชิงระบบเพื่อป้องกัน  มากกว่ามาดราม่าไปกับแต่ละเหตุการณ์  โดยเรื่องปัญหาอาวุธปืน ควรเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน เพราะมิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาซ้ำรอยกับสหรัฐอเมริกา ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการครอบครองอาวุธปืนได้ 

    นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า โดยนิยามของการเลียนแบบ จะต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน 1 เดือน โดยทั้งนี้เห็นว่า  การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนมีผลกับการเลียนแบบ และการจดจำ ทำให้เกิดคนที่มีพฤติกรรม หรือ มีความสุ่มเสี่ยงในจิต อาจก่อเหตุในลักษณะนี้ได้ และเห็นควรให้สังคมลดลงและยุติความเกลียดชังกับครอบครัวผู้ก่อเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการขุดคุ้ย ประวัติครอบครัว เพราะทุกคนล้วนแต่เป็นเหยื่อในระบบของสังคมนี้ และจะยิ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล พร้อมเสนอแนวการแก้ไขดังนี้

    1.พ.ร.บ.อาวุธปืนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องสะสางอย่างจริงจัง  เนื่องจากมีมานานแล้ว โดยมี รัฐบาลและรัฐสภาเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไข ไม่ใช่เน้น การตรวจนับถือครองที่พบว่ามีถึง 12 ล้านกระบอก โดย  พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มีมานาน ยังไม่ได้รับการปรับปรุง

    2.บริการสุขภาพจิตที่ครอบคลุมทั้งประเทศ จะต้องได้รับการพัฒนาให้ตอบสนองปัญหาสุขภาพจิตที่มากขึ้น ซึ่งมักนำไปสู่ความรุนแรง  ควรต้องมีงบประมาณและแผนงานสนับสนุนให้เกิดบริการและกำลังคนอย่างจริงจัง

    3. หน่วยงานที่มีผู้ถืออาวุธ ก็ต้องจัดการเชิงระบบในการดูแลบุคคลากร  ไม่ใช่แค่เข้มงวดการอนุมัติการครอบครองอาวุธปืนใหม่  ซึ่งแก้ไขอะไรได้ไม่มาก

    presscomdivi Wed, 10/04/2023 - 16:48
  5. ม.มหิดล ร่วมกับ สมาคมเวชศาสตร์ฯ จัดอบรมหลักสูตร “นักบริหารระดับสูงด้านสาธารณสุข”

    ม.มหิดล ร่วมกับ สมาคมเวชศาสตร์ฯ จัดอบรมหลักสูตร “นักบริหารระดับสูงด้านสาธารณสุข”

    มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น “นักบริหารระดับสูงด้านสาธารณสุข” โดยกำหนดการจัดอบรมในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึง 28 เมษายน 2567 ณ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล  โดยเปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันนี้- 6 พ.ย. 66

    นักบริหารระดับสูงด้านสาธารณสุข (นบส.ส.) Mini Master of Management in Health (Mini M.M. in Health) รุ่นที่ 38 วันที่ 1 ธันวาคม 2566 – 28 เมษายน 2567 ณ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงด้านสาธารณสุข (นบส.ส.) (Mini Master of Management in Health: Mini M.M. in Health) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ดําเนินการจัดหลักสูตรนี้ไปแล้วถึง 40 รุ่น โดยมุ่งพัฒนา ศักยภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุขซึ่งประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น อําาเภอ จังหวัดและ ประเทศ ให้มีภาวะผู้นําา และมีทักษะในการบริหารงานสาธารณสุขยุคใหม่เพื่อให้ สามารถปฏิบัติหน้าที่ ผู้บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    หลักสูตรนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีคุณสมบัติดังนี้

    1. มีภาวะผู้นําในการบริหารจัดการงานสาธารณสุขยุคใหม่
    2. สามารถคิดวิเคราะห์ วางแผน กำกับ ติดตาม และประเมินโครงการหรือ แผนงานด้านสาธารณสุข
    3. มีทักษะในการบริหารงานสาธารณสุขระดับสูง

    คุณสมบัติผู้เข้าอบรม

    สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ด้านแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ หรือที่เกี่ยวข้อง และมีประสบการณ์การปฏิบัติงาน ด้านสาธารณสุข หรือที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 2 ปี

    ระยะเวลาการศึกษา

    ครั้งที่ 1 วันที่ 1 ธ.ค. 66 - วันที่ 3 ธ.ค. 66
    ครั้งที่ 2 วันที่ 5 ม.ค. 67 - วันที่ 6 ม.ค. 67
    ครั้งที่ 3 วันที่ 2 ก.พ. 67 - วันที่ 4 ก.พ. 67
    ครั้งที่ 4 วันที่ 2 มี.ค. 67 - วันที่ 3 มี.ค. 67 ครั้งที่ 5 วันที่ 27 เม.ย. 67 - วันที่ 28 เม.ย. 67

    สถานที่จัดอบรม
    สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
    ค่าลงทะเบียน
    23,000 บาท

    **กำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม* *

    โครงสร้างของหลักสูตร เนื้อหาวิชาแบ่งเป็น 10 หมวดรายวิชา (Module) ได้แก่

    1. เวชศาสตร์ป้องกันกับการประยุกต์ใช้ในระบบสุขภาพ (Applied Preventive Medicine for Health System)

    2. ระบาดวิทยาเพื่อการแก้ปัญหาสาธารณสุข (Epidemiology for Public Health Solutions)

    3. เศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการบริหารจัดการ ทรัพยากร สาหรับผู้บริหารสาธารณสุข (Health Economics and Resource Management for Health Administrator)

    4. สุขภาพระหว่างประเทศและการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ (International Health and Health Policy Advocacy)

    5. การวิจัยและการนําผลการวิจัยไปใช้ (Health Research and Research Utilization)

    6. ภาวะผู้นําและทักษะของการจัดการสมัยใหม่ (Leadership and Modern Management Skills)

    7. การพัฒนาคุณภาพและการบริหารความเสี่ยงในระบบสุขภาพ (Quality Development and Risk Management for Health System)

    8. การบริหารการเงิน-การคลังในสถานบริการสุขภาพ (Health Financing Management)

    9. การจัดทำและบริหารโครงการแบบมืออาชีพ (Professional Project Management)

    10. เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับผู้บริหารสาธารณสุข (Information Technology for Health Executives)

     

    ข้อมูลเพิ่มเติม คุณจารุวรรณ ฉัตรแก้ว มือถือ: 089-6603234 ไลน์: jum_charuwan อีเมล: charuwan.cha@mahidol.ac.th

     

    hfocus team tipe Wed, 10/04/2023 - 16:18